>ยินดีต้อนรับเข้าสู่...ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอกระทุ่มแบน

ประวัติห้องสมุด

ห้องสมุดประชาชน ”เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่มีพระชนมายุ 36 พรรษา ในปี 2534 เพื่อสนองพระราชปณิธานและแนวทางพระราชดำริ ในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับประชาชน ตามที่ทรงแสดงไว้ในโอกาสต่าง ๆ
ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบนประกาศจัดตั้งเป็นลำดับที่ 62 ของประเทศใช้ที่ดินของวัดดอนไก่ดีกับโรงเรียนกระทุ่มแบน“วิเศษสมุทคุณ” จำนวน 220 ตารางวาเพื่อดำเนินการก่อสร้างโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรสาคร และนายสมพล ทุนคุ้มทอง ซึ่งเป็นประธานสภาจังหวัดสมุทรสาครสมัยนั้น ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ในปี พ.ศ. 2534 ของบประมาณในการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี “ อำเภอกระทุ่มแบน จำนวน 2 ล้าน 1 แสนบาทถ้วน และได้เริ่มดำเนินก่อสร้าง ที่บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนกระทุ่มแบน “วิเศษสมุทคุณ” ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2537 คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน ได้จัดงานวางศิลาฤกษ์ห้องสมุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538โดยมีนายจำเนียร ศศิบุตร ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี
แต่เนื่องจากงบประมาณการก่อสร้างห้องสมุดดังกล่าวยังไม่พอเพียง นายสมพล ทุนคุ้มทอง และคณะผู้ดำเนินการ จึงได้ดำเนินการจัดหาทุนจากคหบดี พ่อค้า ประชาชน ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อจัดสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน เพิ่มเติมขึ้นอีก จนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สิ้นงบประมาณการในการก่อสร้าง จำนวน 3,700,000 บาท และได้ประกาศจัดตั้งห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน ในวันที่12 กันยายน พ.ศ. 2539 โดยนายจำเนียร ศศิบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ลงนามประกาศจัดตั้ง สถานที่ตั้งคือถนนเทศบาล 3 ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
เมื่อห้องสมุดได้ดำเนินก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว การตกแต่งทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งวัสดุครุภัณฑ์ยังไม่แล้วเสร็จ จึงจำเป็นต้องจัดหาทุนในการดำเนินการ เพื่อเตรียมการก่อนพิธีเปิด ทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรสาครได้ประสานงานกับจังหวัดสมุทรสาครในการแต่งตั้งคณะกรรม การดำเนินการจัดหาทุนโดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคหบดีพ่อค้า ประชาชนเป็นเงิน 1,100,000 บาท และได้รับงบประมาณที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดสรรมาให้จัดซื้อหนังสืออีก เป็นเงิน 200,000 บาท ห้องสมุดแห่งนี้จึงใช้งบประมาณทั้งในการก่อสร้างและตกแต่งก่อนพิธีเปิด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาทปัจจุบันมีนายเอนก  ปานทิพย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกระทุ่มแบน
สภาพอาคาร

อาคารของห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน จัดสร้างด้วยแบบแปลน พ – 3402 ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นลักษณะอาคารสองชั้น ประกอบด้วยครุภัณฑ์ ที่ทำเป็นเนื้อที่ใช้สอยและจัดแบ่งเป็นห้องและมุมต่างๆ เช่นห้องเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระเทพฯห้องโสตทัศนศึกษา ห้องกระทุ่มแบน ห้องอ้างอิง มุมเด็กและครอบครัว มุมหนังสือทั่วไป เป็นต้น
การให้บริการ
ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกระทุ่มแบน ได้ทำพิธีเปิดในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดและพร้อมเปิดให้บริการ ในวันนี้เป็นต้นมาปัจจุบันเปิดให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 17.00 น. 
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.
หยุดวันนักขัตฤกษ์
สถานที่ตั้ง
1. สถานที่ตั้ง เลขที่ - หมู่ที่ - ตำบลตลาด ถนนเทศบาล 3 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร รหัสไปรษณีย์ 74110
โทรศัพท์  0-3484-4567
โทรสาร 0-3484-4567





2. เว็บไซต์ www.kratumbaen.nfe.go.th อีเมล์ kratumbaen_sk@hotmail.com
3. ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสมุทรสาคร
นางสุพรพรร  นาคปานเอี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.สมุทรสาคร รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดสมุทรสาคร
4. ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกระทุ่มแบน
นายเอนก  ปานทิพย์
5. ลักษณะอาคาร คอนกรีต จำนวน 2 ชั้น
6. จำนวนพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 415.35 ตารางเมตร
7. ประกาศจัดตั้งปีพุทธศักราช 2538
8. จำนวนสมาชิกห้องสมุด (ปัจจุบัน) 2,324 คน
9. จำนวนผู้มาใช้บริการในห้องสมุดเฉลี่ย 80 คน/วัน
10. ให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ 25 ครั้ง / ปี ผู้มาใช้บริการครั้งละประมาณ 200 - 1,500 คน
11. บุคลากรประจำ 2 ตำแหน่ง
      11.1. นางสาวรจนาพร เพ็งแจ่ม ตำแหน่ง บรรณารักษ์ ชำนาญการ
      11.2. นางสมาพร เหรา ตำแหน่ง บรรณารักษ์อัตราจ้าง
12. จำนวนสื่อ
       หนังสือพิมพ์. 2 ชื่อเรื่อง
       วารสาร / นิตยสาร 11 ชื่อเรื่อง
       หนังสือทั่วไป 19,319 เล่ม
       หนังสือสำหรับเด็ก 955 เล่ม 
       สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป 1,575 ชื่อเรื่อง
13. เครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการอินเทอร์เน็ต 11 เครื่อง
14. การให้บริการสืบค้นข้อมูลหนังสือ  1 เครื่อง